HomeAbout usNewsPaperPresentationLibraryGraduate School at KU
 
 
 
 
          ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (thaipbs) เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2553 รายการ : ข่าวค่ำ ทีวีไทย กรณีแผ่นดินไหว 3.7 ริกเตอร์ ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2553
 
กรุณารอโหลดไฟล์...
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
 
จังหวัดกาญจบุรีสั่งสำรวจความเสียหายเหตุแผ่นดินไหวต.ด่านแม่แฉลบ นายกอบต.เผยไหวน้อยกว่า20ปีก่อน นักธรณีฯเผยสำรวจแล้วไม่ส่งผลกระทบ ไม่มีรอยแยก
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, วันที่ 14 มิถุนายน 2553 19:00, Links..
 

จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวในไทยเมื่อเวลา 15.19 น. วานนี้(13 มิ.ย.) สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุเกิดแผ่นดินไหววัดแรงสั่นสะเทือนได้ 3.7 ริกเตอร์ จุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณ ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี

ล่าสุด เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้(14 มิ.ย.) นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รองผวจ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ได้สั่งการ นายไชโย ฤทธิ์รงค์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี วิทยุไปยังนายอำเภอทุกอำเภอในพื้นที่กาญจนบุรีให้สำรวจความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวอย่างละเอียด เพื่อรายงานอย่างเร่งด่วน เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีรายงานความเสียหาย

ซึ่งพอสรุปได้ 2 ประเด็นคือ 1.การสั่นไหวในครั้งนี้ไม่กระทบ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ทั้งสองเขื่อนยังแข็งแรงปกติ 2.ศูนย์กลางการสั่นไหวน่าจะเกิดในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ดังนั้น จึงไม่กระทบต่อทรัพย์สินของประชาชน

ด้าน ดาบตำรวจสมรักษ์ พรหมชนะ นายกอบต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ เปิดเผยการสำรวจความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ว่า ชาวบ้านสามารถรับรู้การสั่นไหวของเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ โดยรับรู้ 4 ครั้ง ในวันที่ 11 มิ.ย.53 รับรู้ 3 ครั้ง สั่นเป็นช่วงเวลา 07.00 น. และ 11.00 น. และ 13.00 น. อีกครั้ง ล่าสุด 15.00 น.เศษ โดยทุกครั้งจะมีเสียงโคมครามดังลั่นป่า ต้นไม้สั่นไหวไปทั่ว ชาวบ้านบอกว่าเสียงป่าลั่น

นายกอบต.เขาโจด กล่าวอีกว่าได้ประสานงานกับอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ เพื่อร่วมกันสำรวจพื้นที่ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในในครั้งนี้ โดยทางเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและเจ้าหน้าที่ อบต.ร่วมกับชาวบ้านแบ่งชุดออกร่วมกันลาดตะเวนจำนวน 3 ชุด เน้นในส่วนของถ้ำธารลอด 2จุด คือ ถ้ำธารลอดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ บ้านเขาเหล็ก หมู่ 5 ต.เขาโจด และ ถ้ำธารลอดเล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 4 บ้านท่าลำไย และอีกชุดให้ลาดตะเวนไปตามทางเดินป่ามุ่งหน้าไปในพื้นที่บ้านท่าลำไยที่เคยเป็นจุดที่มีดินยุบเมื่อปี 2551ที่ผ่านมา ในเบื้องต้นได้รับรายงานว่ายังไม่พบเหตุปกติ ส่วนชาวบ้านมีขวัญกำลังใจดีมาก ไม่แตกตื่นยังใช้ชีวิตตามปกติ


ส่วน นายมานิตย์ พันธุ์พรหมา กำนันตำบลนาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ เปิดเผยว่า ช่วงเวลาบ่ายสามโมงเมื่อวานนี้ ตนอยู่บริเวณท่าน้ำขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ พบว่าเวลาเกิดแผ่นดินไหว พื้นน้ำไม่มีผลตอบสนอง แต่บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มีเสียงดังเอี๊ยดและสั่นไหวเล็กน้อยแต่เป็นครู่เดียวเท่านั้น ต้นยังไม่มีความเสียหาย

นายอาทิตย์ วงษ์ฝูง นายกอบต.ด่านแม่แฉลบ เปิดเผยถึงพื้นที่อ ต.ด่านแม่แฉลบ ยังไม่พบความเสียหาย สั่นไหวเล็กน้อย ไม่เหมือนเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ไหวเกือบ 6 ริคเตอร์ กอไผ่ยุบหายไปในพื้นดิน ดอนนั้นยังไม่ผลต่อเขื่อน แสดงว่าเขื่อนมีการออกแบบให้สามารถรองรับแรงสั่นของแผ่นดินไว้อย่างพร้อมแล้ว

ต่อมา นายวีรชัย ไชยสระแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า 14.00 น.วันนี้ ทางเขื่อนศรีนครินทร์ได้ประสานงานขอเฮลิคอปเตอร์จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเข้าพื้นที่ไปดูจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดยเชิญ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล และ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ร่วมเดินทางไปตรวจสอบด้วย จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวน่าจะเป็นทิศตะวันออกของ ต.ด่านแม่แฉลบ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเขตอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์

 
นักธรณีวิทยา เผยแผ่นดินไหวที่กาญจน์ 2ครั้งไม่พบรอยแยก 

ต่อมา เวลา 14.30 น. นายวีรชัย ไชยสระแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์-บริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้ง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ร่วมเดินทางไป โดยขึ้นเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงเกษตรที่สถานีไฟป่าเขาน้ำพุ ต.ช่องสะเดา อ.เมืองกาญจนบุรี

โดยคณะทั้งหมดเดินทางไปตรวจสอบจุดศูนย์กลางการสั่นไหวที่เกิดขึ้น 2 จุด จุดแรกสั่นไหวในวันที่ 13 มิ.ย. 53 ตั้งอยู่ในทิศตะวันออกของพื้นที่ตำบลด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ห่างจากสันเขื่อนศรีนครินทร์ 20 กม.เป็นพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ส่วนจุดที่สองเป็นจุดที่สั่นไหวในวันที่ 11 มิ.ย. 53 ศูนย์กลางอยู่ในพื้นที่ ต.หนองรี อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี

ต่อมา ดร.ปริญญา เปิดเผยถึงการสำรวจศูนย์กลางการสั่นไหวทั้งสองจุด พบพื้นที่เป็นหินปูนครอบคลุมพื้นที่ มีร่องรอยเก่าที่เป็นริ้วเล็ก แต่ไม่ได้เกิดจากการสั่นไหวในสองครั้งหลังนี้ แต่ไม่พบรอยแตกร้าวของพื้นผิวดิน และเมื่อสอบถามชาวบ้านใกล้เคียงทราบว่า รับรู้โดยได้ยินเสียงดัง ส่วนสิ่งที่เสียหายพบบ้านพักอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางการสั่นไหวในครั้งแรกเมื่อ 11 มิ.ย. 53ในรัศมี 5-10กม. มีกระจกแตกเล็กน้อย แต่ที่อื่นไม่พบความเสียหาย

ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา กล่าวต่อไปว่า จากการที่ติดตามศึกษาพบว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นแล้วจบไปในครั้งเดียว ส่วนการที่จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ แต่เท่าที่ทราบรอบเลื่อนในบริเวณนี้เป็นรอยแยกแขนงของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ที่หากเกิดการสั่นไหวน่าจะอยู่ในระดับปานกลางสูงสุด ประมาณ 6 ริคเตอร์น่าจะเป็นไปได้ แต่หากสั่นไหวรุนแรงน่าจะเป็นไปได้ยากเพราะแรงท่าสะสมตามกลศาสตร์มีการบีบรัดรอบข้างมาก จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได และที่สำคัญการสั่นไหวอย่างรุนแรงทุกปีจะมีประมาณ 22 ครั้ง ตอนนี้สั่นไปแล้ว 10ครั้ง และจะสั่นอีกต่อไป แต่จะเกิดในพื้นที่ที่แรงสะสมเยอะ อย่างที่เกาะสุมาตราเป็นต้น ส่วนการสั่นไหวเล็กน้อยแต่ละปีมีการสั่นไหวเป็นล้านครั้ง แต่ไม่มีพลังมากแต่อย่างใด 

ส่วนนายวีรชัย ไชยสระแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์-บริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จาการที่บินดูศูนย์กลางแผ่นดินไหวพบว่าเป็นพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ไม่พบร่องรอยแยกและไม่พบความเสียหาย และไม่มีมีประชาชนได้รับผลกระทบ สิ่งสำคัญไม่มีผลกระทบต่อเขื่อนศรีนครินทร์