HomeAbout usNewsPaperPresentationLibraryGraduate School at KU
 
 
 
 

ศูนย์วิจัยฯ ช่วยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน วิเคราะห์ปัญหาการทรุดตัวของบ้านมั่นคง

ชุมชนหลวงพ่อศรีม่วง ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

 
     ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ได้รับการติดต่อจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ช่วยดำเนินการสำรวจและวิเคราะห์หาสาเหตุการทรุดตัว เอียงตัวของโครงการบ้านมั่นคง ชุมชนหลวงพ่อศรีม่วง พร้อมทั้งเสนอวิธีการซ่อมแซม บำรุงรักษาบ้านหลังที่มีปัญหา โดยมี ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านฐานราก เป็นหัวหน้าคณะวิศวกรในการดำเนินงาน
          
     โครงการบ้านมั่นคงเป็นอาคารที่อยู่อาศัย 2 ชั้น จำนวน 103 หลัง โดยมีแบบบ้านหลายแบบ โครงสร้างบ้านเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก วางอยู่บนฐานรากเสาเข็มคอนกรีต ซึ่งโครงการนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 90 % และพบว่าบ้านจำนวน 33 หลัง เฉพาะแบบชนิด A2 ได้เกิดการทรุดตัวและมีรอยแตกร้าวอย่างชัดเจน จากการสำรวจและวิเคราะห์ความเสียหาย พบว่าลักษณะการทรุดตัวเป็นลักษณะที่ฐานรากบ้าน เกิดการทรุดตัวที่แตกต่างกัน (Differential Settlement) ทำให้บ้านเอียง
 
     สาเหตุที่ทำให้เกิดการทรุดตัวไม่เท่ากันของฐานรากจนทำให้เกิดการเอียงของบ้าน เกิดจากปลายเสาเข็มของบ้านอาจไม่ได้หยั่งวางอยู่บนชั้นทรายแน่น แต่วางอยู่บนชั้นทรายหลวมและชั้นดินเหนียวแข็ง (รูปที่ 1) อย่างไรก็ตามเฉพาะสาเหตุดังกล่าว ไม่อาจทำให้บ้านทรุดเอียงได้ แต่จะทำให้ทรุดตัวลงไปพร้อมกันทั้งหลัง ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของบ้านที่มีน้ำหนักไม่มาก หรือบ้านขนาดเล็กเพราะการทรุดตัวที่เกิดขึ้นจะไม่มากและผ่านไปไม่กี่ปีการทรุดตัวจะหยุด
 
     แต่ในกรณีนี้ เมื่อทำการวิเคราะห์อย่างละเอียด พบว่าการถ่ายน้ำหนักของบ้านลงสู่ฐานราก แต่ละฐานรากนั้นไม่เท่ากัน เนื่องจากมีการปรับปรุงเพิ่มเติมแบบขณะก่อสร้าง (เฉพาะแบบ A2) เหตุดังกล่าวทำให้ฐานรากอาคารบางฐานรับน้ำหนักมากกว่าฐานรากข้างเคียง ทำให้เกิดการทรุดตัวมากกว่าฐานรากอื่น ส่งผลให้บ้านเกิดการเอียงตัว จนสามารถเห็นและรู้สึกได้อย่างชัดเจนนี้
          
รูปตัดการวางตัวของชั้นดินในโครงการฯ ตามแนวหลุมเจาะ (ปลายเสาเข็มของอาคารส่วนใหญ่อยู่ที่ความลึก 14 เมตร)
 
          
     กรณีการเอียงของบ้านจากเหตุดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ไม่ใช่สาเหตุหลักของการล้มของบ้านตามที่เป็นข่าว แต่เกิดความผิดพลาดจากการก่อสร้างฐานราก โดยพบว่าเสาเข็มใต้ฐานรากมีการเยื้องออกจากศูนย์ของตอม่อหรือแนวเสาของอาคาร โดยเห็นได้ชัดบริเวณบ้านที่อยู่ริมพื้นที่ดินถม กรณีนี้ถึงแม้จะไม่ส่งผลให้อาคารเอียง แต่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อการพิบัติอย่างทันทีทันใดได้ ดังกรณีที่เกิดขึ้น
 
เสาและฐานรากของบ้านที่ล้มก่อนเกิดเหตุการณ์ การเยื้องศูนย์ที่เกิดขึ้น
การล้มของอาคาร
          
     ทั้งนี้ วิธีการแก้ไข ได้ถูกเสนอโดยศูนย์วิจัยฯ แล้วในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2554 โดยแนวทางการแก้ไขการทรุดเอียงตัวของบ้าน ได้แก่ การเสริมเสาเข็ม Micro Pile ฐานละ 2 ต้น (Underpinning) และยกปรับระดับอาคาร สำหรับการแก้ไขฐานรากในบ้านหลังที่มีปัญหาการเยื้องศูนย์ ทำโดยการขยายตอม่อและทำคานรัด (Strap Beam) ซึ่งรายละเอียดและวิธีการแก้ไขทั้งหมดได้เป็นไปตามข้อสรุปร่วมกันระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และผู้อยู่อาศัยในชุมชนฯ ดังกล่าว
 
     อย่างไรก็ตามเนื่องจากงบประมาณการแก้ไขค่อนข้างสูง การตัดสินใจร่วมกันดังกล่าวจึงใช้เวลาก่อนที่จะเริ่มดำเนินการแก้ไข สำหรับบ้านหลังที่ล้มพิบัตินั้น จะมีกำหนดการในการเข้าดำเนินงานเพียงอีก 1 อาทิตย์ แต่มาล้มพิบัติเสียก่อน